งบการเงินหรือรายงานบัญชีการเงิน (Financial Statement) เช่น งบดุล งบกำไรขาดทุน งบแสดงการเปลี่ยนแปลงในส่วนของเจ้าของ งบกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จ งบกระแสเงินสด และนโยบายการบัญชีและหมายเหตุประกอบงบการเงิน ที่เชื่อถือได้ และสามารถนำไปใช้ประโยชน์สำหรับผู้ใช้งบการเงินได้ต่อไป สำหรับ การบัญชีบริหาร (Managerial Accounting) หรือการบัญชีเพื่อการจัดการ นั้น สภา วิชาชีพบัญชีได้ให้คำจำกัดความไว้ว่า การบัญชีบริหาร หมายถึง การบัญชีสาขาหนึ่งที่มีรูปแบบเพื่อให้ข้อมูลแก่ผู้บริหารในระดับต่างๆ เพื่อประโยชน์ในการควบคุม การวางแผน และการตัดสินใจในการดำเนินงาน จากคำจำกัดความดังกล่าว จะเห็นว่า การบัญชีบริหาร ก็คือ การนำเอาข้อมูลจากการบัญชีการเงินมาปรับปรุงหรือแปรสภาพให้เกิดเป็นข้อมูลใหม่ ทั้งนี้เพื่อจะได้เสนอข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อฝ่ายบริหารในการควบคุม การวางแผน และการตัดสินใจในการดำเนินงานของกิจการ ฝ่ายบริหารสามารถนำข้อมูลทางการเงินมาใช้ประโยชน์ในการบริหารงานได้ ดังนี้
- การวางแผนและตัดสินใจทางการเงินด้านต่างๆ เช่น ด้านต้นทุน กำไร และปริมาณการผลิตหรือการขายของกิจการ การตัดสินใจลงทุนในระยะสั้นและระยะยาวของกิจการ
- การควบคุมด้านการเงิน เพื่อให้ทราบถึงผลการปฏิบัติงานว่าเป็นไปตามแผนที่ได้วางไว้หรือไม่ โดยนำข้อมูลจากผลการปฏิบัติงานจริงมาเปรียบเทียบกับแผนงานที่ได้วางไว้ เพื่อวิเคราะห์หาสาเหตุและแก้ไขผลต่างที่เกิดขึ้น
- การเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน ซึ่งสามารถกระทำได้โดยการวัดผลการดำเนินงานตามความรับผิดชอบของแต่ละหน่วยงานโดยใช้วิธีการบัญชีตามความรับผิดชอบ (Responsibility Accounting)ในการประเมินผลการปฏิบัติงานของแต่ละหน่วยงาน
- การจัดทำงบประมาณของกิจการ ต้องอาศัยข้อมูลทางด้านบัญชีที่แสดงถึงผลงานในอดีต มาเพื่อพยากรณ์เหตุการณ์ทางการเงินในอนาคต เช่น ประมาณการยอดขาย ประมาณการปริมาณผลิต ประมาณการกำไรขาดทุน
อาจกล่าวได้ว่า การบัญชีที่จัดทำขึ้นเพื่อเสนอข้อมูลหรือรายงานทางการเงินของกิจการนั้น เป็นเรื่องของการบัญชีการเงิน ส่วนการบัญชีที่จัดทำขึ้นเพื่อเสนอข้อมูลต่อฝ่ายบริหารของกิจการจัดได้ว่าเป็นการบัญชีเพื่อการบริหารหรือการจัดการ